กลอนแปด
“ยอดกษัตริย์พัฒนาปรีชาล้ำ พระองค์ทำนำร่องต้องศึกษา พระราชทานงานใหญ่ให้ประชา เกิดคุณค่าฟ้ารู้สู่ผืนดิน ธ ทรงโครงการพระราชดำริ ราชปิติวิวัฒน์จัดเพิ่มสิน มอบประชามาไว้ให้ทำกิน ไทยทั่วถิ่นยินดีมีสุขล้น ..... ร่วมใจพร้อมน้อมนำคำพ่อสอน ทุกขั้นตอนย้อนคิดประสิทธิ์ผล ประเสริฐหนอพ่อครูภูมิพล ทั่วโลกยลสนงานการอุทิศ ผองชาวไทยใจภักดิ์รักพ่อหลวง หลอมทุกดวงปวงไทยได้เพ่งพิศ เทิดพระองค์จงรักประจักษ์จิต ธ สถิตจิตใจไทยนิรันดร์”
ขอต้อนรับสู่กลอนแปด ของครูวัลลภ มากมี
บทกลอนทั้งหมดนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม) ไม่อนุญาตให้นำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่แอบแฝงแสวงหาผลประโยชน์ ยกเว้นการลิงก์เข้าสู่เว็บบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กลอนเศรษฐกิจพอเพียง

     กลอนแปดแตกต่างจากกลอนแปดสุภาพ คลิกดู เสียงวรรณยุกต์ของกลอนแปดสุภาพ
     สำหรับเว็บบล็อก "กลอนแปด" นี้จะประกอบไปด้วยกลอนแปดสุภาพ  หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้
๑. กลอนแปดสุภาพ กับสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมตัวอย่างกลอนแปด (หน้าแรกนี้)  
๒. กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรักความเข้าใจใน ๓ สถาบันหลักของชาติไทย คือ
    ๒.๑ กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรู้และความรักในสถาบันชาติ ด้านมนุษยศาสตร์ ดังต่อไปนี้
          ๒.๑.๗ วันครู
          ๒.๑.๑๒ ๕ อ.
          ๒.๑.๑๓ รถติด
          ๒.๑.๑๖ รัก
     ๒.๒ กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรู้และความรักในสถาบันศาสนา มีกลอนธรรมะ ดังต่อไปนี้
     ๒.๓ กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรู้และความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังต่อไปนี้


เศรษฐกิจพอเพียง
๑. กรอบความคิดเศรษฐกิจพอเพียง

รูปที่ ๑ กรอบความคิดเศรษฐกิจพอเพียง

๒. หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ
รูปที่ ๒ หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ

หมายเหตุ ผู้เขียนเน้นสัมผัสในทุกวรรคโดยแนวการสัมผัสในได้ยึดหลักจากบทกลอนที่เป็น Idol คือ
“น้ำใส  ไหลเย็น  เห็นตัวปลา”
กลอนแปดสุภาพ (วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้ปรับปรุงใหม่จากกลอนแปดเดิมของผู้เขียนซึ่งเป็นกลอนแปดธรรมดา) คลิกดูสียงวรรณยุกต์ของกลอนแปดสุภาพ
กลอนเศรษฐกิจพอเพียง
     "องค์ในหลวง ห่วงใย ไทยทุกหน
ประชาชน สนใจ ไม่ต้องเสี่ยง
ยึดหลักคิด เศรษฐกิจ พอเพียง
หากทำเยี่ยง พระองค์ คงอุดม
     ทฤษฎีใหม่ ไร่นา พาเพิ่มสิน
พลิกผืนถิ่น ดินร่วน สวนผสม
แหล่งน้ำดี มีใช้ ไม่ตรอมตรม
พาชื่นชม ร่มรื่น ชื่นกมล
     สามสิบปี ที่ตรัส ดำรัสไว้
ถ้าคนไทย ได้นำ ทำทุกหน
จะได้ดี มีสุข ไม่ทุกข์ทน
รู้พึ่งตน ค้นทาง สร้างฝืนไทย

     ตอกเสาเข็ม เต็มหลัก ปักเป็นฐาน
ตึก-อาคาร งานราก หากบ้านใหญ่
ทำให้แกร่ง แข็งมั่น จากชั้นใน
สิ่งนี้ไง ในหลวง ทรงล่วงรู้
     เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเยี่ยงฐาน
ให้ตัวบ้าน มั่นคง ดำรงอยู่
ปรัชญานี้ ชี้นำ ทำให้ดู
จากทุกผู้ สู่รัฐ พัฒนา

     หลักการตาม สามห่วง พ่วงเงื่อนไข
นำมาใช้ ให้ครบ พบคุณค่า
ทางสายกลาง สร้างให้ ใช้ปัญญา
รู้รักษา หาทรัพย์ นับออมไป
     พอประมาณ ท่านว่า อย่าก่อหนี้
ด้วยวิถี มีสัมมา พาโปร่งใส
อย่าละโมบ โลภมาก อยากเกินใคร
รู้จักใช้ ไม่เพลิน จนเกินการ
     มีเหตุผล ค้นคิด จิตมุ่งมั่น
ต้องรู้ทัน ปัญหา พาแตกฉาน
พิจารณา สาเหตุ สังเกตงาน
มองหลายด้าน ผ่านรอด จะปลอดภัย
     ภูมิคุ้มกัน นั่นคือ ถือความคิด
กระจ่างจิต ติดตาม ความเคลื่อนไหว
พึ่งพาตน หนทาง กระจ่างใจ
มองการณ์ไกล ไตร่ตรอง ต้องปัญญา
     เงื่อนไข ในความรู้ คู่รอบคอบ
ทำกิจชอบ รอบรู้ คู่ศึกษา
รู้ระวัง ตั้งจิต พิจารณา
รู้เวลา หาทาง สร้างสิ่งคิด
     เงื่อนไข คุณธรรม นำมาใช้
ยึดนิสัย ในจุด สุจริต
มีปัญญา มานำ ทำชีวิต
รู้ถูกผิด จิตดี มีเพียบพร้อม
     ปรับวาระ ประเทศ เศรษฐกิจ
นำชีวิต จิตไทย ให้หล่อหลอม
สังคมสุข ทุกผู้ รู้จักออม
สิ่งแวดล้อม ย่อมอยู่ คู่คนเคียง
     ถ้าทุกคน สนใจ ได้มุ่งมั่น
มีแบ่งปัน กันไว้ ไม่สุ่มเสี่ยง
ร่วมน้อมนำ ทำตาม ความพอเพียง
โลภละเลี่ยง เสียงสาป บาปทางใจ
     พอเพียงนี้ ชี้ทาง สร้างสุขสม
สู่สังคม สมดุล หนุนกันได้
ชีวิตนั้น มั่นคง ดำรงไป
ทั่วถิ่นไทย ให้สร้าง อย่างยั่งยืน
     ตามรอยพ่อ พอเพียง เคียงชีวิต
รู้ถูกผิด จิตใส ไม่ฝ่าฝืน
หากดำรง คงมั่น ทุกวันคืน
จะแช่มชื่น ตื่นรู้ คู่ความดี
     เมื่อยิ่งทำ สัมมา อาชีพไหน
จะยิ่งได้ ไว้เพิ่ม เสริมศักดิ์ศรี
หากยิ่งให้ ได้มิตร จิตไมตรี
จะยิ่งมี ศรีสุข ทุกวันเอย"

ตามมุมมองของผู้เขียน ขอขยายความการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับการทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ด้วยกลอนแปดสุภาพ
กลอนความพอเพียงกับการงานอาชีพ
กลอนสอนใจคนทำงาน
กลอนกลุ่มคนที่ต้องพอเพียง
กลอนตามรอยพ่อ
     “สรุปท้าย ขยายความ ตามหลักคิด      
เศรษฐกิจพอเพียง เสียงเล่าเอ่ย
อาชีพใด ใครทำ นำหน้าเลย
อย่าอยู่เฉย เผยแพร่ แก่ชุมชน

     เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพชอบ
อยู่ในกรอบ ขอบเขต เหตุและผล
ไม่เบียดเบียน เพียรงาน การพึ่งตน
ต้องอดทน คนสู้ รู้สัมมา
     พอเพียงนี้ มิใช่ ให้ย่อท้อ
หรือแค่รอ ขอรับ กับปัญหา
แต่ต้องเก่ง เร่งใจ ไม่เฉื่อยชา
มีปัญญา พาช่วย ด้วยสองมือ
     องค์ในหลวง ห่วงไทย ให้หลุดพ้น
ทรงคิดค้น หนทาง อย่างเลื่องชื่อ
เดินสายกลาง สร้างใจ ให้ฝึกปรือ
ต้องยึดถือ คืออยู่ รู้จักคิด
     ความพอเพียง เที่ยงแท้ แก้กิเลส
โลภเกินเหตุ เขตทุกข์ รุกล้ำจิต
โลภเกินใคร ใจดำ ซ้ำมืดมิด
ก้าวเกินสิทธิ์ ลิดรอน ก่อนได้มา
     กิจการ โรงงาน ขานรับไว้
ผลกำไร ได้พอ ต่อคุณค่า
คุณธรรม นำคู่ สู่ราคา
ผู้ขายค้า อย่าทำ จำหน่ายแพง

     ทำเกษตร เขตสวน ควรปลอดสาร
รับประทาน ต้านภัย ได้ทุกแห่ง
เคมีเสี่ยง เลี่ยงยา ฆ่าแมลง
ไม่เติมแต่ง แข่งพ่น ปนพิษยา
     เจ้าหน้าที่ มีกฎ กำหนดไว้
ต้องนำใช้ ให้เลิศ เกิดคุณค่า
ประชาชน คนไทย ได้พึ่งพา
ไม่ระอา ว่าบ่น จนล่ำลือ
     ข้าราชการ สานรับ ขับเคลื่อนต่อ
ไม่รั้งรอ ท้อถอย คอยสร้างชื่อ
บริการ งานดี ที่ฝึกปรือ
ต้องสัตย์ซื่อ ถือไว้ ไม่หย่อนยาน
     อีกองค์กร วอนนำ ความโปร่งใส
ทั้งเล็กใหญ่ ใช้หลัก นักบริหาร
นักปกครอง ต้องนำ ธรรมาภิบาล
มุ่งผลงาน บ้านเมือง เรืองวิไล
     ครอบครัวดี มีสุข ทุกคนสร้าง
บ้านเคียงข้าง ต่างอยู่ รู้จักให้
ด้วยการเอื้อ เจือจุน หนุนกันไป
ชุมชนใหญ่ ได้อยู่ รู้แบ่งปัน

      สังคมดี มีสุข ทุกแห่งหน
ประชาชน คนไทย ได้ยึดมั่น
ความพอเพียง เยี่ยงนี้ มีสุขกัน
รู้ขยัน หมั่นงาน ชาญวิธี
     เมื่อหาทรัพย์ นับไว้ อย่างใช้หมด
รู้จักจด ลดจ่าย หน่ายเป็นหนี้
ใช้สามส่วน ควรซื้อ คือสิ่งดี
หนึ่งส่วนมี ที่ยอม ออมเงินตรา
     ฉลาดซื้อ ถือว่า อย่าสุร่าย
รู้จักจ่าย หลายอย่าง ต่างสมค่า
ฉลาดใช้ ให้ดี ที่ซื้อมา
ฉลาดหา พาเพิ่ม เสริมทรัพย์เอย”

รูปที่ ๓ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ประพันธ์โดยนายวัลลภ มากมี (เริ่มประพันธ์เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)

 



Fix It Center, ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน, แผนกช่างยนต์, วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี (มิ.ย. ๕๖) 

     ผู้เขียนขอสรุปโดยสังเขปหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากข้อมูลของวารสารชัยพัฒนา ดังนี้
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กรอบความคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
     เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดินเปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเองสิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำ
     เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์
     เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย มาโดยตลอด นานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ความพอเพียง
     สรุปหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ให้ยึดหลัก ทางสายกลาง คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
     หมายเหตุ ตามที่แสดงในรูปที่ ๒ หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ มีสัญลักษณ์ คือเป็นรูป ๓ ห่วงซึ่งมีความสัมพันธ์ซ้อนทับเหลื่อมกัน กล่าวคือรูปห่วงของความพอประมาณ รูปห่วงของความมีเหตุผล และรูปห่วงของความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
๑. ความพอประมาณ
     หลักของความพอประมาณ (พอดี) ๕ ประการ มีข้อสรุปคือ
     ๑.๑ พอดีด้านจิตใจ หมายถึงให้ เข็มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี เอื้ออาทร ประนีประนอม นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม
     ๑.๒ พอดีด้านสังคม หมายถึง ช่วยเหลือเกื้อกูล รู้รักสามัคคี สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชน
     ๑.๓ พอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ และเกิดความยั่งยืนสูงสุด
     ๑.๔ พอดีด้านเทคโนโลยี หมายถึง รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อความต้องการเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและพัฒนาจากภูมิปัญญาชาวบ้านก่อน
     ๑.๕ พอดีด้านเศรษฐกิจ หมายถึง เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดำรงชีวิตอย่างพอควร พออยู่ พอกิน สมควรตามอัตตาภาพและฐานะของตน
๒. ความมีเหตุผล
     หลักของความมีเหตุผล 
๕ ประการ มีข้อสรุปคือ
     ๒.๑ ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลด เลิก สิ่งยั่วกิเลสให้หมดสิ้นไป ไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัวเอง ทำลายผู้อื่น พยายามเพิ่มพูนรักษาความดี ที่มีอยู่ให้งอกงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
     ๒.๒ ไม่หยุดนิ่งที่หาทางในชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก
     ๒.๓ ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันในทางการค้าขายประกอบอาชีพ แบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
     ๒.๔ ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพ 
     ๒.๕ ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดความฟุ่มเฟือย
ในการดำรงชีพ
๓. มีระบบคุ้มกันในตัวที่ดี
     หลักของความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี 
๒ ประการ มีข้อสรุปคือ 
     ๓.๑ มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน สติปัญญา และแบ่งปัน
     ๓.๒ มีความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง
หลักปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยพื้นฐาน คือ
     ๑. การพึ่งตนเองเป็นหลัก
     ๒. พิจารณาถึง ความพอดี พอเหมาะ พอควร สมเหตุสมผล
     ๓. การสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความสมดุล
     ๔. ครอบคลุมทั้งทางด้านจิตใจ สังคม เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ
เงื่อนไขของหลักปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
     สรุปเงื่อนไขของหลักปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ คือความรู้ และคุณธรรม
     หมายเหตุ ตามที่แสดงในรูปที่ ๒ หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ มีสัญลักษณ์ คือเป็นรูป ๒ กรอบสี่เหลี่ยม กล่าวคือรูปกรอบเงื่อนไขความรู้ และรูปกรอบเงื่อนไขคุณธรรม
เงื่อนไขความรู้
     ๑. รอบคอบ
     ๒. รอบรู้
     ๓. ระมัดระวัง
เงื่อนไขคุณธรรม
     ๑. ซื่อสัตย์สุจริต
     ๒. ขยันอดทน
     ๓. สติปัญญา
     ๔. แบ่งปันสมดุล
ทั้งนี้เพื่อให้ ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน
     หมายเหตุ
     ๑. ชื่อเต็มที่ถูกต้องคือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
     ๒. บางครั้งการพูดถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะเรียกตามสัญลักษณ์ว่ามีหลักการ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข


     ตัวอย่างการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับธุรกิจ
     ผู้เขียนขอสรุปจากที่มาของข้อมูลงานวิจัยของนายสุขสรรค์ กันตะบุตร (2553 : -http://www.ismed.or.th/SME2/src/bin/controller.php?view=generalContents.GeneralContent&form=&rule=generalCo)

     จากข้อมูลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรทางธุรกิจ พบว่าได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม คือไม่แพง แต่มีประสิทธิภาพพอเพียง มีการวางแผนกำลังการผลิตของตนตามความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี ไม่โลภมากและไม่มุ่งไปที่ผลกำไรในระยะสั้นเท่านั้น มุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของธุรกิจ เช่นการไม่เอาเปรียบผู้บริโภค พนักงาน และผู้ขายวัตถุดิบ เป็นต้น มีการกระจายความเสี่ยงไปผลิตภัณฑ์และตลาดที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น ภูมิภาค ตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศตามลำดับซึ่งการศึกษาพบว่าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเหล่านี้ สามารถที่จะปฏิบัติตนสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ดีเป็นพิเศษในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มีการลงทุนในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การแบ่งปันและการทำงานร่วมกันกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้และมาตรฐานของอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ในแง่มุมของคุณธรรม ธุรกิจต้องมีการลงทุนในเรื่องของการจัดการของเสีย มีการแข่งขันที่ยุติธรรม มีการช่วยเหลือและพัฒนาพันธมิตรทางธุรกิจ สนับสนุนความมีศีลธรรมในองค์กร มีการสนับสนุนและช่วยเหลือสังคมอย่างจริงใจ
     จากงานวิจัย องค์กรธุรกิจในส่วนอื่นๆ ของโลก ที่สามารถจะดำเนินธุรกิจมาได้เป็นเวลาหลายทศวรรษต่างก็มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกันกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยกันทั้งนั้น บริษัทที่ได้ชื่อว่ามีความมั่นคงอย่าง Toyota, BMW, Allianz, Novartis และ Marriott ได้มีการดำเนินงานที่เหมือนกันอย่างมากกับบริษัทไทยที่มีความยั่งยืนในการศึกษาข้างต้น ซึ่งอนุมานได้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการสากลที่สามารถก่อให้เกิดความยั่งยืนแห่งองค์กรธุรกิจและงานช่างได้เช่นกัน
     จากการพิจารณางานวิจัยต่างๆ สามารถกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตรงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจและงานช่างได้ดังต่อไปนี้
     ๑. มองการณ์ไกลในการบริหารจัดการและตัดสินใจในเชิงนโยบาย ไม่มุ่งหวังกำไรเพียงในระยะสั้น
     ๒. ให้คุณค่าแก่พนักงานอย่างจริงใจและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการให้พนักงานออกแม้แต่ในยามทุกยากทางเศรษฐกิจ เพราะพนักงานคือสินทรัพย์ที่พัฒนาได้ขององค์กร
     ๓. จริงใจและหวังดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจทั้งหมด รวมถึงประชากรและสังคมในอนาคต
     ๔. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมทั่วทั้งองค์กรไม่ใช่เฉพาะในผลิตภัณฑ์หรือการบริการ
     ๕. ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
     ๖. ใช้ และ/หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแต่ราคาไม่สูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบบไทยๆ
     ๗. ขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อพร้อมทุกด้านเท่านั้น
     ๘. ลดความเสี่ยงโดยการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตลาดที่หลากหลาย และการลงทุนที่หลากหลาย
     ๙. แบ่งปัน องค์ความรู้ที่มีเพื่อพัฒนาตลาด เพื่อผลประโยชน์ที่ตกแก่ผู้บริโภคและสังคม
     ๑๐.ยึดถือจริยธรรม มีความอดทนและขยันหมั่นเพียร


8 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25 กันยายน 2555 เวลา 08:08

    เพราะดีนะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ แต่งได้เพราะดีนะ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ21 ธันวาคม 2555 เวลา 17:41

    ชอบมากๆเลยค่ะเพราะเกี่ยวกับในหลวง

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ24 ธันวาคม 2555 เวลา 18:06

    ก๊อ o อ่าน้ะ.

    ตอบลบ
  4. “ปรัชญาเยี่ยม เปี่ยมค่า น่านำใช้
    สังคมใหม่ ให้อยู่ รู้วิถี
    ไม่เบียดเบียน เพียรก่อ ต่อความดี
    ดำรัสนี้ ชี้ไว้ ให้ร่วมสร้าง
    ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
    ไม่ต้องเสี่ยง เลี่ยงหนี้ มีหนทาง
    สองเงื่อนไข ให้ทำ ตามสายกลาง
    รู้ปล่อยวาง อย่างดี มีการออม”

    จากกลอนแปดโครงการพระราชดำริ http://vallop-magmee.blogspot.com/2012/05/blog-post_5517.html

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2556 เวลา 11:46

    เยี่ยมค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2556 เวลา 11:47

    ดีมากเลยค่ะ

    ตอบลบ