กลอนแปด
“ยอดกษัตริย์พัฒนาปรีชาล้ำ พระองค์ทำนำร่องต้องศึกษา พระราชทานงานใหญ่ให้ประชา เกิดคุณค่าฟ้ารู้สู่ผืนดิน ธ ทรงโครงการพระราชดำริ ราชปิติวิวัฒน์จัดเพิ่มสิน มอบประชามาไว้ให้ทำกิน ไทยทั่วถิ่นยินดีมีสุขล้น ..... ร่วมใจพร้อมน้อมนำคำพ่อสอน ทุกขั้นตอนย้อนคิดประสิทธิ์ผล ประเสริฐหนอพ่อครูภูมิพล ทั่วโลกยลสนงานการอุทิศ ผองชาวไทยใจภักดิ์รักพ่อหลวง หลอมทุกดวงปวงไทยได้เพ่งพิศ เทิดพระองค์จงรักประจักษ์จิต ธ สถิตจิตใจไทยนิรันดร์”
ขอต้อนรับสู่กลอนแปด ของครูวัลลภ มากมี
บทกลอนทั้งหมดนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม) ไม่อนุญาตให้นำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่แอบแฝงแสวงหาผลประโยชน์ ยกเว้นการลิงก์เข้าสู่เว็บบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กลอนแปดสุภาพ, กลอนสอนศิษย์, กลอนคุณธรรม

     กลอนแปดแตกต่างจากกลอนแปดสุภาพ คลิกดู เสียงวรรณยุกต์ของกลอนแปดสุภาพ
     สำหรับเว็บบล็อก "กลอนแปด" นี้จะประกอบไปด้วยกลอนแปดสุภาพ  หัวข้อใหญ่ ดังต่อไปนี้
๑. กลอนแปดสุภาพ กับสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมตัวอย่างกลอนแปด (หน้าแรกนี้)  
๒. กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรักความเข้าใจใน ๓ สถาบันหลักของชาติไทย คือ
    ๒.๑ กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรู้และความรักในสถาบันชาติ ด้านมนุษยศาสตร์ ดังต่อไปนี้
          ๒.๑.๗ วันครู
          ๒.๑.๑๒ ๕ อ.
          ๒.๑.๑๓ รถติด
          ๒.๑.๑๖ รัก
     ๒.๒ กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรู้และความรักในสถาบันศาสนา มีกลอนธรรมะ ดังต่อไปนี้
     ๒.๓ กลอนแปดสุภาพ ส่งเสริมความรู้และความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังต่อไปนี้


กลอนแปดสุภาพ
กลอนแปดสุภาพ มีความแตกต่างจาก กลอนแปด คือ
กลอนแปด จะบังคับเพียงสัมผัสนอก
กลอนแปดสุภาพ จะบังคับสัมผัสนอก และต้องบังคับเสียงวรรณยุกต์ด้วย ดังต่อไปนี้
     ๑. คำสุดท้ายของวรรคสดับ ใช้วรรณยุกต์เสียงเอก, โท, ตรี และจัตวา (ห้ามเสียงสามัญ)
     ๒. 
คำสุดท้ายของวรรครับ ใช้วรรณยุกต์เสียงเอก, โท และจัตวา (ห้ามเสียงสามัญ และตรี)
     ๓. คำสุดท้ายของวรรครอง ใช้วรรณยุกต์เสียงสามัญ และตรี (ห้ามเสียงเอก, โท และจัตวา)
     ๔. คำสุดท้ายของวรรคส่ง ใช้วรรณยุกต์เสียงสามัญ และตรี (ห้ามเสียงเอก, โท และจัตวา)

     ผังกลอนแปดสุภาพ, สัมผัสนอก และเสียงวรรณยุกต์

     ตัวอย่างกลอนแปดสุภาพ
     กลอนแปดสุภาพของท่านสุนทรภู่ รู้สิ่งไรก็ไม่สู้รู้วิชา

     กลอนแปดสุภาพของท่านสุนทรภู่ จงนึกในไตรลักษณ์มรรคญาณ

     กลอนแปดสุภาพของท่านสุนทรภู่ ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา

หมายเหตุ ผู้เขียนเน้นสัมผัสในทุกวรรคโดยแนวการสัมผัสในได้ยึดหลักจากบทกลอนที่เป็น Idol คือ 
“น้ำใส ไหลเย็น เห็นตัวปลา”

กลอนแปดสุภาพ
กลอนสอนศิษย์
กลอนคุณธรรมสำหรับช่าง
     “ศิษย์คนใด ไร้ครู ดูย่ำแย่
ทำไม่แล แม้พบ มินบไหว้
อย่าทำเบ่ง เก่งเกิน เมินผู้ใด
รู้คุณไว้ ได้กลับ รับวิชา
     ครูสอนสั่ง หวังไว้ ได้เกิดศรี
เป็นคนดี มีครู รู้ศึกษา
สุข-ดี-เก่ง เร่งรัด พัฒนา
ให้ก้าวหน้า มาสู่ ผู้เชี่ยวชาญ
     ครูคอยย้ำ ทำทาง สว่างให้
นักเรียนใหม่ ได้ครู ปูพื้นฐาน
ฝึกให้เป็น เด่นดี มีหลักการ
เมื่อทำงาน นานเข้า เจ้าจงจำ
     ต้องศึกษา หาทาง สร้างภูมิรู้
ต่อยอดครู ดูใหม่ ไม่ถอยต่ำ
แบบฝึกหัด จัดหา มาลองทำ
อ่านอีกซ้ำ คำนวณ ทวนวิธี
     รู้อ่อนน้อม ถ่อมตน คนชมชื่น
อยากหยิบยื่น คืนกลับ นับเป็นศรี
เอื้ออำนวย ช่วยเหลือ เกื้อทวี
มากมิตรดี มีไว้ ไม่ตีบตัน
     ฝึกปรือ ถือมานะ ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)
จนว่องไว้ ไม่ผิด จิตมุ่งมั่น
เทคนิคใหม่ ให้ดู รู้เท่าทัน
ต้องขยัน มั่นงาน การเรียนรู้
     จำ-เข้าใจ ให้สุด พุทธิพิสัย (Cognitive Domain)
วิเคราะห์-ใช้ ได้หวัง สังเคราะห์อยู่
ประเมินค่า พาตน ค้นหาดู
หนทางสู่ ผู้ตื่น ทุกคืนวัน
     จิตพิสัย (Affective Domain) ใจงาม ความเลิศล้ำ
คุณธรรม ดำรง ให้คงมั่น
เสริมสร้างชื่อ ซื่อสัตย์ มัดใจกัน
มีแบ่งปัน ฉันท์มิตร จิตชื่นบาน
     ต่อไปนี้ มีคำ นำมากล่าว
อาจยืดยาว ชาวช่าง ตั้งใจอ่าน
พ่อ-แม่รัก จักให้ ได้ทำงาน
อย่าเกียจคร้าน การเรียน เพียรให้ดี
     เรื่องอธรรม จำไว้ อย่าไปเสี่ยง
จงหลีกเลี่ยง เบี่ยงตน พ้นวิถี
อย่ามั่วสุม กลุ่มเที่ยว เหยี่ยวราตรี
อย่าหลบลี้ หนีเรียน เวียนซ่อมซ้ำ
     การคบเพื่อน เตือนไว้ ให้รู้ชั่ง
อาจจะพลั้ง รั้งเรา เข้าตกต่ำ
อาจติดยา พาลอง ต้องเคราะห์กรรม
อาจถลำ ดำดิ่ง ยิ่งอับอาย
     คบคนพาล งานเข้า พาเราผิด
นำชีวิต ติดบ่วง ร่วงสลาย
อนาคต หมดค่า มามลาย
ข่าวมากมาย หลายคน จนอับปาง
     สิ่งเสพติด พิษร้าย อย่างหมายมุ่ง
ชีวิตยุ่ง พุ่งดิ่ง ยิ่งดำด่าง
ห้ามขายค้า พาผิด ติดตาราง
หมดหนทาง ต่างแย่ แค่พันพัว
     อย่าไปแว้น แล่นซิ่ง วิ่งขวักไขว่ (แว้นหมายถึงเร่งเครื่องดังแว้นๆ)
อย่าขับไว ไม่ยั้ง ช่างเวียนหัว
อย่าซิ่งแต่ง แข่งกัน มันน่ากลัว
อย่าแหย่ยั่ว ทั่วท่อง ต้องเฉี่ยวชน
     อย่าดื่มเหล้า เมายา มาขับรถ
ฝ่าฝืนกฎ คดเคี้ยว เลี้ยวถนน
อาจพิการ งานใหญ่ ได้ทุกข์ทน
หรือปี้ป่น จนตาย ได้สะเอียน
     เพื่อนที่ดี นี้ควร ชวนกันคบ
จะประสบ พบดี ไม่มีเปลี่ยน
พาขยัน หมั่นงาน การพากเพียร
เป็นแสงเทียน เรียนรู้ สู่ตัวตน
     เพื่อนไม่ดี นี้ควร ชวนถอยห่าง
หลงผิดทาง ต่างแย่ แลสับสน
อนาคต หมดไป ใจทุกข์ทน
พาฉ้อฉล จนช้ำ น้ำตานอง
     มีกิ๊กใหม่ ไปมั่ว ตัวอดสู
อย่าคบชู้ สู่เตียง เคียงกันสอง
อย่าชิงสุก ก่อนห่าม ตามครรลอง
เมื่อใดป่อง ต้องทรุด ฉุดชีวี
     อย่ามั่วเพศ เอดส์ (AIDS) ติด พิษเหลือร้าย
กินร่างกาย ผ่ายผอม ย่อมเหมือนผี
พ่อ-แม่เรา เศร้าใจ ให้ราคี
จำต้องลี้ หนีหลบ จบสังคม
     รู้การหลีก ปลีกตัว ชัวร์ (Sure) ไว้ก่อน
เมื่อเร่าร้อน ผ่อนไว้ ให้รู้ข่ม
รู้จักคิด จิตใส ไม่ระทม
ผ่อนอารมณ์ ร่มเย็น เป็นชื่นบาน
     อย่าใช้เงิน เกินตัว มัวแต่ซื้อ
ต้องฝึกปรือ ถือออม พร้อมคิดอ่าน
รักสะอาด กวาดถู รู้การงาน
อย่าเกียจคร้าน บ้านเรา ไม่เอาเลย
     อย่าหมกมุ่น ครุ่นคิด ติดแต่เที่ยว
เป็นหัวเลี้ยว เดี๋ยวฉุด สุดเอื้อนเอ่ย
อนาคต หมดไป ไม่น่าเลย
เหมือนพังเพย เย้ยหยาม ตามติเตียน
     หยุดสังคม ก้มหน้า พาเกรดต่ำ
จะชักนำ ทำใจ ให้แปรเปลี่ยน
Smartphone โดนใจ ไม่อยากเรียน
ต้องอ่านเขียน เพียรรู้ สู่ตนเอง
     อย่าทะเลาะ เบาะแว้ง แบ่งชนชั้น

อย่าฆ่าฟัน อันธพาล หาญเกินเก่ง
อย่าทำใหญ่ ไม่กลัว ตัวไม่เกรง
อย่านักเลง เบ่งกล้าม ตามต่อยตี
     แทนคุณแม่ และพ่อ ทอถักฝัน
จิตมุ่งมั่น กตัญญู รู้หน้าที่
สร้างชื่อเสียง เรียงนาม ความเด่นดี
เกิดศักดิ์ศรี ชีวิต ประสิทธิ์คุณ
     เมื่อเป็นช่าง ตั้งใจ ในหน้าที่
สมศักดิ์ศรี มีธรรม มานำหนุน
งานหนักเอา เบาสู้ รู้เจือจุน
รู้เก็บตุน ทุนรอน ตอนทำงาน
     คุณธรรม นำใจ ไม่มิจฉา
มีสัมมา อาชีพ รีบคิดอ่าน
ทำเรียบร้อย คอยตรวจ สำรวจทาน
ซ่อมไม่ผ่าน การใด ให้คัดออก
     อย่าหยิบฉวย ด้วยจ้อง ของคนอื่น
เก็บได้คืน ยื่นให้ ไม่ลวงหลอก
เปลี่ยนอะไหล่ ใหม่เก่า เราต้องบอก
ไม่กลิ้งกลอก ยอกย้อน ซ่อนอำพลาง
     ต้องสัตย์ซื่อ ถือหลัก รักหน้าที่
งานต้องดี มีชื่อ คือเชิงช่าง
รู้เท่าทัน ปัญหา มานำทาง
ใช้-ซ่อม-สร้าง อย่างเด่น เป็นขวัญตา
(๓ ระดับความสามารถของช่างคือระดับใช้เป็น, ระดับซ่อมเป็น และช่างระดับสูงคือสร้างเป็น
      ประสบการณ์ งานใด ใฝ่เรียนรู้
เปิดประตู สู่โลก โชคล้ำค่า
เสมอต้น จนปลาย ให้ศรัทธา
ตรงเวลา หน้าที่ มีวินัย
     เครื่องมือช่าง วางลง ตรงถูกที่
รู้วิธี มีแผน แม่นมากไหม
ซ่อมต้องเก่ง เร่งงาน การกลไก
ปัญหาใด ใหญ่น้อย อย่าปล่อยลาม
     รู้ระวัง ตั้งใจ ไม่เลินเล่อ
อย่าพลั้งเผลอ เหม่อใจ ไกลเกินห้าม
อย่าใจลอย คอยคิด ติดสาวงาม
อย่าบุ่มบ่าม ย่ามใจ ไปจนเคย
     สายถลอก บอกมา พาแก้ไข
อย่าวางใจ ไฟฟ้า มานิ่งเฉย
ซ้อมกันภัย ไว้ซะ อย่าละเลย
เพราะพังเพย เผยปราชญ์ อาจรู้พลั้ง
     อุปกรณ์ป้องกัน (Protective Equipment) นั้นต้องใช้
อุบัติภัย ไม่คาด อาจสิ้นหวัง
กันใบหน้า ตา-หู-หัว กลัวเสียงดัง
เมื่อระวัง พังมา พาบรรเทา
     กฎโรงงาน ทานทวน ล้วนต้องเน้น
อย่าทำเล่น เช่นลิง วิ่งหลอกเจ้า
ทุกพื้นที่ มีกฎ งดมึนเมา
ถ้าดื่มเหล้า เข้าปาก มากเรื่องร้าย
     อย่าตะโกน โพนจัง ดังสนั่น
ด่าใส่กัน ลั่นฟ้า น่าแหนงหน่าย
ชอบคุยดัง ฟังเพลง เร่งมากมาย
ทำเสียหาย บ่างเบี่ยง เลี่ยงการรับ
     ห้องทำงาน ทานขนม ถมขยะ
ไม่สางสะ จะรก หมกห้องหับ
ใช้ ๕ ส. ขอด่วน ควรซึมซับ
คอยกำกับ ปรับด้วย ช่วยชื่นใจ
     สะสาง
(整理 = Seiri) ต่างจำแนก แยกดีกว่า
สะดวก
(整頓 = Seiton) หา ถ้าพร้อม ย่อมหยิบได้
สะอาด
(掃= Seiso) เก็บกวาดเช็ด เสร็จทีไร
สวยสดใส ใครเห็น เป็นชื่นตา
     สุขลักษณะ
(清潔 = Seiketsu) จะดี ที่แวดล้อม
ทุกคนพร้อม ย่อมสวย ด้วยรักษา
สร้างนิสัย
(躾 = Shitsuke) ให้เคร่ง เร่งจรรยา
ส. ทั้งห้า มาทำ ประจำปี
     วางแผน (P) ไว้ ให้ถ่อง ต้องประหยัด
ปฏิบัติ (D) จัดทำ ซ้ำถ้วนถี่
ตรวจสอบ (C) ได้ ให้รู้ ดูวิธี
ปรับปรุง (A) ดี ชี้ค่า ตีตราจอง
(PDCA Cycle หรือ Deming Cycle = Plan, Do, Check, Act)
     ISO โชว์มา ค่ากำหนด
ตรงตามกฎ จดไว้ ไม่บกพร่อง
บริการ-งานผลิต สิทธิ์รับรอง
เพื่อคุ้มครอง ต้องดี ที่องค์กร
(ISO = International Standards Organization หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน) 
     คุณภาพ ทราบตาม มาตรฐาน
ควบคุมงาน ผ่าน QC ดีกว่าก่อน
QA จะ ประกัน ทุกขั้นตอน
ตรวจเข้มย้อน สอนงาน ผ่านทุกคน
(QA = Quality Assurance หรือการประกันคุณภาพ, QC = Quality Control หรือการควบคุมคุณภาพ)
     หน่วยงานใด ไม่ดี มีหวังแย่
ร่วมดูแล แก้ไข ไม่สับสน
บริหาร งานดี ชี้นายตน
ประเมินผล พ้นผ่าน การตรวจตรา
     จาก ๕ บท จดจำ นำมาใช้ 
ทำวิจัย ให้รู้ ผู้ก้าวหน้า 
R D (Research and Development) ที่จัด พัฒนา
SWOT มา พาวิเคราะห์ เหมาะเหม็งนัก
(SWOT หรือสวอต คือ S = Strengths หมายถึงจุดแข็ง, W = Weaknesses หมายถึงจุดอ่อน, O = Opportunities หมายถึงโอกาส, T = Threats หมายถึงอุปสรรค)
     รู้จุดแข็ง (S) แข่งขัน มั่นใจก่อน
รู้จุดอ่อน (W) ตอนไหน ให้ปกปักษ์
รู้โอกาส (O) อาจลอง ต้องฟูมฟัก
อุปสรรค (T) จักรู้ สู่การค้า
     โลกยุคใหม่ ได้ดี ที่ต้องเก่ง
ปรับตัวเอง เร่งไว้ ให้รุดหน้า
ต้องมุ่งมั่น ขันแข่ง แซงขึ้นมา
เลิกเฉื่อยชา อย่าเถียง เกี่ยงหนักเบา
     แม้เวียดนาม ตามหลัง ยังแซงหน้า
พัฒนา พาข้าม ได้ตามเป้า
เก่งงานเงิน เกินล้ำ นำไทยเรา
บ้างมัวเมา เศร้าจริง ยิ่งเสพยา
     ชาติอาเซี่ยน เปลี่ยนแปลง แซงไปแล้ว
ปล่อยไทยแห้ว แถวไหน ไม่ศึกษา
เขาขยัน มั่นมุ่ง รุ่งวิชา
พัฒนา ท้าเรา เข้าประชัน
     เยอรมนี ญี่ปุ่น คุ้นคำนี้
จีน-เกาหลี มีวินัย ใฝ่ขยัน

มาเลเซีย เนี่ยไง ให้ดูกัน

เขามุ่งมั่น ขันแข่ง แซงขึ้นมา
     เขาสร้างคน จนล้ำ ทำไฮเทค
ไทยยังเสก เลขมนต์ พ่นคาถา
เขาขายแอปส์ (Apps=Applications) แบบใหม่ ไทยพึ่งพา
แล้วก้มหน้า หาเล่น เช่นทุกวัน
     จะเลิศล้น คนไทย วินัยเยี่ยม
ไม่เต็มเปี่ยม เตรียมรอ คอร์รัปชั่น (Corruption)
ไม่ทะเลาะ เบาะแว้ง แบ่งฝ่ายกัน
ไม่พนัน ขันต่อ ล่อไฮโล
     ชาติอื่นมา หางาน การสรรค์สร้าง
ทั้งรับจ้าง อย่างไร ใช่คุยโม้ 
ไทยยังเพลิน เดินเล่น ไม่เห็นโต
เที่ยวโฉบโชว์ โก้หรู ผู้สำราญ
     มีสมบัติ จัดขาย หายหมดสิ้น
แหล่งทำกิน ดินรั้ว และตัวบ้าน
คนขายที่ หนีเร้น เป็นคนงาน
พัสถาน ผลาญไป ให้เปลี่ยนนาม
     ตกเป็นทาส ชาติอื่น ขืนไม่แก้
อาจย่ำแย่ แลสิ้น  ถิ่นสยาม
ต้องเร่งรัด พัฒนา พาเขตคาม
ให้หลุดข้าม ความด้อย อย่าปล่อยพัง

     พัฒนา พาตน คนรุ่นใหม่
แทนคุณไทย ใจสู้ สู่สิ่งหวัง
เมื่อทำงาน การใด ให้จริงจัง
รวมพลัง ครั้งใหญ่ ให้มากมี
     ปลุกคนไทย ใครหลับ จับให้ตื่น
ร่วมพลิกฟื้น ผืนดิน ถิ่นวิถี
ตามรอยพ่อ พอเพียง เลี้ยงชีวี
ชุมชนดี ที่เหลือ เผื่อแบ่งปัน
     สร้างสินค้า มาดี มีคุณค่า
พัฒนา น่าใช้ ให้แข่งขัน
สินค้าใด ไทยทำ นำใช้กัน

ผลิตภัณฑ์ ชั้นเยี่ยม เตรียมจัดทำ
     ไทยปรับปรุง มุ่งมั่น สู้ฟันฝ่า
จะก้าวหน้า กว่านี้ ไม่มีต่ำ
ต้องสนใจ ใฝ่รู้ คู่คุณธรรม
ระบบนำ ดำรง ตรงเวลา
     วิเคราะห์เป็น เย็นไว้ อย่าใจร้อน
พึ่งตนก่อน สอนใจ ใฝ่ศึกษา
ยึดกฎเกณฑ์ เจนจัด พัฒนา
ต้องค้นคว้า อย่าท้อ ขอวิจัย

     สุดท้ายนี้ มีทาง สร้างคุณค่า
ยั่งยืนกว่า ถ้าเพิ่ม เติมนิสัย
ลูกสำนึก ฝึกหนัก รักวินัย
ชนชาติไทย ได้นำ ความรุ่งเรือง

คลิกที่รูปเพื่อศึกษาหลักการทำงานของเครื่องยนต์แก๊สโซลีน 4 จังหวะ

ประพันธ์โดย นายวัลลภ มากมี

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖

หมายเหตุ
  เด็กแว้น ในพจนานุกรมคำใหม่ หรือพจนานุกรมฉบับวัยรุ่น ของราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า เด็กแว้น หมายถึง "วัยรุ่นผู้ชายที่ชอบเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ให้มีเสียงดังแว้นๆ"



ลักษณะ ชนิด ประเภทและปริมาณยาเสพติดให้โทษ
     กฎกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภทและปริมาณยาเสพติดให้โทษ
ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๔๗
     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๐ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
     ข้อ ๑ ลักษณะ ชนิดและประเภทของยาเสพติดให้โทษ สำหรับความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษตามมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง ได้แก่ ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ และประเภท ๕ ทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ
     ข้อ ๒ ยาเสพติดให้โทษตามข้อ ๑ สำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครอง ความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานเสพและจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ ตามมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง ต้องมีปริมาณดังต่อไปนี้
          (๑) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑
                 (ก) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณไม่ถึงสิบห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงสามร้อยมิลลิกรัม
                 (ข) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณไม่ถึงสิบห้าหน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงหนึ่งจุดห้ากรัม
                 (ค) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ นอกจาก (ก) และ (ข) มีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงสามกรัม
          (๒) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
                 (ก) โคคาอีนมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหกร้อยมิลลิกรัม
                 (ข) ฝิ่นมีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสิบห้ากรัม
                 (ค) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ นอกจาก (ก) และ (ข) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสามกรัม หรือที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกินสองร้อยห้าสิบมิลลิลิตร
          (๓) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕
                 (ก) กัญชามีน้ำหนักสุทธิไม่เกินสิบห้ากรัม
                 (ข) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ นอกจาก (ก) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกินหนึ่งร้อยสามสิบห้ากรัม

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๔๙ ก ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗)


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติให้กำหนดลักษณะ ชนิด ประเภทและปริมาณยาเสพติดให้โทษไว้ในกฎกระทรวง เพื่อเปิดโอกาสและจูงใจให้ผู้เสพ ผู้เสพและมีไว้ในครอบครอง ผู้เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือผู้เสพและจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษปริมาณน้อยเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยความสมัครใจและสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุข จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้


สิ่งเสพติด (Drugs)
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
     สิ่งเสพติด หรือยาเสพติด ในความหมายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization or WHO) จะหมายถึงสิ่งที่เสพเข้าไปแล้วจะเกิดความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ และจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกายและจิตใจขึ้น
๑. สาเหตุุการติดยาเสพติด
     ๑.๑ ความอยากรู้อยากลอง ด้วยความคึกคะนอง เป็นส่วนใหญ่
     ๑.๒ เพื่อนชวน หรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
     มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพติดบางชนิด อาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์ หรือช่วยให้ทำงานได้มากๆ
     ๑.๓ ขาดความระมัดระวังในการใช้ยา เพราะคุณสมบัติของยา บางชนิดอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดการเสพติดได้โดยไม่รู้ตัว หากใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยขาดการแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร
     ๑.๔ สภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัย มีการค้ายาเสพติด หรือมี ผู้ติดยาเสพติด
     ๑.๕ ถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
     ๑.๖ เพื่อหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้
     ๑.๗ ติดจากการเล่นการพนัน หรือ เกม
๒. การสังเกตผู้ติดยา
     ๒.๑ วิวาทหรือทำร้ายผู้อื่นหรือในทางกลับกัน บางคนอาจชอบแยกตัว อยู่คนเดียวและหนีออกจากพรรคพวกเพื่อนฝูง
     ๒.๒ ถ้าผู้เสพเป็นนักเรียน มักพบว่า ผลการเรียนแย่ลง ถ้าเป็นคน ทำงาน มักพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรือไม่ยอมทำงานเลย
     ๒.๓ ใส่เสื้อแขนยาวตลอดเวลา เพื่อปกปิดรอยเข็มที่ฉีดยาตรงท้องแขนด้านใน หรือรอยกรีดตรงต้นแขนด้านใน
     ๒.๔ ติดต่อกับเพื่อนแปลกๆใหม่ๆซึ่งมีพฤติกรรมผิดปกติ
     ๒.๕ ขอเงินจากผู้ปกครองเพิ่ม หรือยืมเงินจากเพื่อนฝูงเสมอเพื่อนำไปซื้อยาเสพติด
     ๒.๖ ขโมย ปล้น ฉกชิง วิ่งราว เพื่อหาเงินไปซื้อยาเสพติด
     ๒.๗ ผู้ติดยาเสพติดบางชนิด เช่น เฮโรอีน จะมีอาการอยากยาบางคนจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นลงแดง
     อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวข้างต้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผลมาจากการติดยาเสพติดเสมอไป อาจเกิดจากความผิดปกติในเรื่องอื่นก็ได้ เมื่อสงสัยว่า ผู้ใด ติดยาเสพติด จึงควรใช้การซักถาม อย่างตรงไปตรงมา ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ ผู้ที่ติดยาส่วนใหญ่ รู้ว่าการใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องไม่ดี หลายรายเคยมีความคิดที่จะเลิกแต่ทำไม่สำเร็จ การถามด้วยท่าทีเป็นมิตรจึง เป็นการช่วยให้ผู้เสพได้พูด ตามความจริง คำถามที่ใช้ไม่ควร ถามว่าติดหรือไม่ แต่ควรถามพฤติกรรมการใช้ อาทิถามว่าเคยใช้หรือไม่ ครั้งสุดท้ายที่ใช้เมื่อไหร่ ฯลฯ.
๓. การป้องกันยาเสพติด
      ๓.๑ ป้องกันตนเอง ไม่ทดลองยาเสพติดทุกชนิด และพยายามปลีกตัวออกห่างจากบุคคลหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถ้ามีปัญหาหรือไม่สบายใจ อย่าเก็บไว้คนเดียว ควรปรึกษาพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ ตามความสนใจและความถนัด ระมัดระวังในการใช้ยาต่าง ๆ และศึกษาให้เข้าใจถึงโทษภัยของยาเสพติด
     ๓.๒ ป้องกันครอบครัว ควรสอดส่องดูแลเด็ก และบุคคลในครอบครัวอย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด ดูแลเรื่องการคบเพื่อน คอยส่งเสริมให้เขารู้จักการใช้เวลาในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำงานบ้าน เล่นกีฬา ฯลฯ เพื่อป้องกันมิให้เด็กหันเหไปสนใจในยาเสพติด สิ่งสำคัญก็คือทุกคนในครอบครัวควรสร้างความรัก ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
     ๓.๓ ป้องกันชุมชน หากพบผู้ติดยาเสพติดควรช่วยเหลือแนะนำให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยเร็ว โดยกฎหมายจะยกเว้นโทษให้ผู้ที่สมัครเข้าขอรับการบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด ก่อนที่ความผิดจะปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ และเมื่อรู้ว่าใครกระทำผิดฐานนำเข้าส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)


เอดส์ (AIDS) 
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
     เอดส์ หรือกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม (Acquired Immune Deficiency Syndrome - AIDS) เป็นโรคของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus, HIV) ทำให้ผู้ป่วยมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสและการเกิดเนื้องอกบางชนิด เชื้อไวรัสเอชไอวีติดต่อผ่านทางการสัมผัสของเยื่อเมือกหรือการสัมผัสสารคัดหลั่งซึ่งมีเชื้อ เช่น เลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด น้ำหลั่งก่อนการหลั่งอสุจิ และนมมารดา อาจติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด หรือทวารหนัก หรือช่องปาก, การรับเลือด, การใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อน, ติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ คลอด ให้นม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ ดังกล่าว
     คำว่า เอดส์ มาจากภาษาอังกฤษว่า AIDS ซึ่งย่อมาจาก Acquired Immune Deficiency Syndrome ซึ่งแต่ละคำมีความหมายดังนี้
     A = Acquired หมายถึง เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิดหรือสืบทอดทางกรรมพันธุ์
     I = Immune หมายถึง ระบบภูมิต้านทานหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
     D = Deficiency หมายถึง ความบกพร่อง การขาดไปหรือเสื่อม
     S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการคือมีอาการหลาย ๆ อย่างไม่เฉพาะที่ระบบใดระบบหนึ่ง
     รวมแปลว่า กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม” เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เสื่อมหรือบกพร่องลง เป็นผลทำให้เป็นโรคติดเชื้อหรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ อาการมักจะรุนแรง เรื้อรัง และเสียชีวิตในที่สุด
     การศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์ชี้ว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีมีถิ่นกำเนิดมาจากแอฟริกากลางตะวันตกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โรคเอดส์เป็นที่รู้จักครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ ส่วนสาเหตุของโรคและเชื้อไวรัสเอชไอวีนั้นค้นพบในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐
     ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถชะลอการดำเนินโรคได้ แต่ยังไม่มีหนทางรักษาให้หายขาด ไม่มีวัคซีนป้องกัน ยาต้านไวรัสสามารถลดอัตราการตายและภาวะทุพพลภาพได้ดี แต่ยาเหล่านี้ยังมีราคาแพง ผู้ป่วยในบางประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ องค์กรสุขภาพต่างๆ เล็งเห็นว่าการรักษาเอดส์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก จึงให้ความสำคัญกับการควบคุมการระบาดของโรคเอดส์ด้วยการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อผ่านการสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและการแลกเปลี่ยนเข็มที่ใช้แล้ว เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
พยาธิสรีรวิทยา
     เชื้อเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่ม Lentivirus ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มไวรัส Retrovirus ไวรัสกลุ่มนี้ขึ้นชื่อในด้านการมีระยะแฝงนาน การทำให้มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือดนาน การติดเชื้อในระบบประสาท และการทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลง เชื้อเอชไอวีมีความจำเพาะต่อเม็ดเลือดขาวชนิด CD T lymphocyte และ Monocyte สูงมาก โดยจะจับกับเซลล์ CD๔ และฝังตัวเข้าไปภายใน เชื้อเอชไอวีจะเพิ่มจำนวนโดยสร้างสายดีเอ็นเอโดยเอนไซม์ Reverse transcryptase หลังจากนั้นสายดีเอ็นเอของไวรัสจะแทรกเข้าไปในสายดีเอ็นเอของผู้ติดเชื้ออย่างถาวร และสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้
อาการ
โครงสร้างของเชื้อเอชไอวี
     เชื้อเอชไอวีทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซท์ ที่มีชื่อว่า CD๔ เมื่อเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ต่ำลง จะทำให้ร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน และเกิดอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนในที่สุด
ภายหลังการได้รับเชื้อ ร่างกายต้องใช้เวลาในการสร้างปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อ ในปัจจุบันในการวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ เราไม่ได้ตรวจหาเชื้อโดยตรง แต่เป็นการตรวจว่าร่างกายเรามีปฏิกิริยาต่อเชื้อหรือไม่ โดยการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV Antibody) ซึ่งการตรวจดังกล่าวอาจให้ผลลบได้ในกรณีที่ได้รับเชื้อมาใหม่ ๆ เนื่องจากร่างกายยังไม่ได้สร้างปฏิกิริยาตอบสนองภายหลังการรับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย บางรายอาจมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่ว ๆ ไป เช่น มีไข้ ผื่นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ อาการมักกินเวลาสั้น ๆ และหายไปได้เอง หลังจากนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ เลย
     เชื้อไวรัสจะส่งผลให้ระดับเม็ดเลืดขาวที่เรียกว่าซีดีโฟร์ลดลงอย่างช้า ๆ จนผู้ป่วยเริ่มเกิดอาการของเอชไอวีเกิดขึ้น เช่นฝ้าในปาก ผึ่นคันตามตัว น้ำหนักลด โดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการเมื่อระดับซีดีโฟร์ต่ำกว่า ๒๐๐ cell/mm
     อัตราเฉลี่ยของประเทศไทยตั้งแต่รับเชื้อจนเริ่มป่วยใช้เวลา ๗-๑๐ ปี ในช่วงที่เรามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายแต่ไม่ป่วยเพราะเรายังมีภูมิคุ้มกันที่ยังควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ เรียกว่า เป็นผู้ติดเชื้อ และเมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลายเหลือจำนวนน้อย จนไม่สามารถควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคบางอย่างได้ทำให้เราป่วยด้วยเชื้อโรคนั้น ๆ เรียกว่าเราเริ่มมี ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นผู้ป่วยเอดส์ โรคที่เราป่วยเนื่องจากภาวะภูมิบกพร่อง เรียกว่าโรคฉวยโอกาส
แนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์
     การป้องกันและรักษาโรคฉวยโอกาส ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส (ที่สำคัญคือ หลายโรคป้องกันได้ และทุกโรครักษาได้)
     การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อลดปริมาณไวรัสในเลือดให้น้อยที่สุดและควบคุมปริมาณไวรัสให้อยู่ในระดับต่ำนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ลดโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคฉวยโอกาส
สาเหตุการติดเชื้อ
     เชื้อไวรัสเอชไอวีพบในเลือดและสารคัดหลั่งหลายชนิดของร่างกาย ได้แก่ น้ำอสุจิ เมือกในช่องคลอดสตรี น้ำนม น้ำลาย และอาจพบได้ในปริมาณน้อยๆ ในน้ำตาและปัสสาวะ เมื่อพิจารณาจาก แหล่งเชื้อแล้วจะพบว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีติดต่อได้ หลายวิธีคือ
     การมีเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นได้ทั้งการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และกับเพศตรงข้าม
     การรับเลือดและองค์ประกอบของเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะรวมทั้งไขกระดูกและน้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียมซึ่งมีเชื้อ แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ได้ลดลงไปจนเกือบหมด เนื่องจากมีการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีในผู้บริจาคเหล่านี้ รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มผู้บริจาคซึ่งไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ไม่รับบริจาคเลือดจากผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น เป็นต้น
     การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาเสพติดร่วมกัน และของมีคมที่สัมผัสเลือดจากมารดาสู่ทารก ทารกมีโอกาสรับเชื้อได้หลายระยะ ได้แก่ เชื้อไวรัสแพร่มาตามเลือดสายสะดือสู่ทารกในครรภ์ ติดเชื้อขณะคลอด จากเลือดและเมือกในช่องคลอด ติดเชื้อในระยะเลี้ยงดูโดยได้รับเชื้อจากน้ำนม จะเห็นได้ว่าวิธีการติดต่อเหล่านี้เหมือนกับไวรัสตับอักเสบบีทุกประการ ดังนั้นถ้าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ก็จะไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ด้วย
ระบบการแบ่งระยะ (staging) โรคเอดส์
     ในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ได้จัดกลุ่มภาวะและการติดเชื้อเหล่านี้ไว้ด้วยกันโดยเสนอระบบการแบ่งระยะโรคของผู้ติดเชื้อเอชไอวี-๑ ต่อมาจึงได้รับการปรับปรุงแก้ไขในเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๕ ภาวะส่วนใหญ่ที่ระบุไว้นี้เป็นการติดเชื้อฉวยโอกาสที่มักจะรักษาได้ง่ายในคนปกติ
     ระยะที่ ๑: การติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีอาการ ไม่จัดเป็นโรคเอดส์
     ระยะที่ ๒: มีการแสดงออกทางเยื่อบุเมือก และการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนเป็นซ้ำ (Recurrent)
     ระยะที่ ๓: นับรวมเอาอาการท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งเดือนที่ไม่มีคำอธิบาย การติดเชื้อแบคทีเรีย รุนแรง และวัณโรคปอด
     ระยะที่ ๔: นับรวมเอาการติดเชื้อทอกโซพลาสมาในสมอง การติดเชื้อราแคนดิดาในหลอดอาหาร หลอดลม หรือปอด และเนื้องอกคาโปซี โรคเหล่านี้บ่งชี้ถึงเอดส์
เพศสัมพันธ์
     การติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันระหว่างคู่นอนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อเอชไอวี การติดต่อของเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ในโลกเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและหญิง
     การใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นชนิดสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง เป็นทางเดียวที่สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และการตั้งครรภ์ได้ หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบันระบุว่าถุงยางอนามัยโดยทั่วไปสามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีทางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงได้ประมาณ ๘๐% ในระยะยาว โดยประโยชน์ของการใช้ถุงยางอนามัยน่าจะยิ่งมีมากขึ้นหากได้ใช้ถุงยางอนามัยในทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
     ถุงยางอนามัยสำหรับเพศชายแบบที่ทำด้วยลาเทกซ์นั้นหากใช้อย่างถูกต้องโดยไม่ใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมแล้วจะเป็นเทคโนโลยีที่ได้ประสิทธิภาพดีที่สุดในการลดการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ ผู้ผลิตแนะนำว่าสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันเช่นเจลปิโตรเลียม เนย หรือน้ำมันสัตว์นั้นไม่สามารถใช้กับถุงยางอนามัยที่ทำจากลาเทกซ์ได้เนื่องจากจะทำให้ลาเทกซ์ละลาย ทำให้ถุงยางอนามัยมีรู[ต้องการอ้างอิง] หากจำเป็นผู้ผลิตแนะนำว่าควรใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำจะดีกว่า อย่างไรก็ดีสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมยังสามารถใช้กับถุงยางอนามัยที่ทำจากโพลียูรีเทนได้
การสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ
     ผู้ปฏิบัติงานทางสาธารณสุขสามารถลดการสัมผัสเชื้อเอชไอวีได้โดยปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง (Precaution) เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเลือดที่มีเชื้อ มาตรการระมัดระวังเหล่านี้เช่นการใช้สิ่งกำบังเช่นถุงมือ หน้ากาก กระจกกันตา เสื้อกาวน์ ผ้ากันเปื้อน ซึ่งลดโอกาสที่เชื้อจะสัมผัสผิวหนังหรือเยื่อบุ การล้างผิวหนังมากครั้งและทั่วถึงหลังสัมผัสกับเลือดหรือสารหลั่งอื่นๆ สามารถลดโอกาสติดเชื้อได้ ที่สำคัญคือวัตถุมีคมเช่นเข็ม ใบมีด กระจก จะต้องถูกทิ้งอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุถูกเข็มตำ ในบางประเทศที่มีการติดเชื้อผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันมาก มีการนำวิธีการเช่นโครงการแลกเข็มมาใช้เพื่อลดผลเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติด
การติดต่อจากแม่สู่ลูก
     แนวทางปัจจุบันกำหนดไว้ว่าหากสามารถใช้อาหารอื่นทดแทนได้ มารดาที่มีเชื้อเอชไอวีไม่ควรให้นมบุตร อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถทำได้แนะนำว่าควรให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวในช่วงเดือนแรกๆ และหย่านมให้เร็วที่สุด รวมทั้งการให้นมทารกที่ไม่ใช่บุตรด้วย
การรักษา
     ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีใช้ทั่วไป และไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ให้หายขาดได้ วิธีป้องกันโรคอย่างเดียวที่มีใช้อยู่คือการหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อไวรัส หรือถ้าได้รับมาแล้วก็ต้องใช้ยาต้านไวรัสทันทีหลังจากการได้รับเชื้อ หรือ Post-Exposure Prophylaxis (การป้องกันโรคหลังการสัมผัส - PEP) [๓๓] การป้องกันโรคหลังการสัมผัสนี้ต้องให้ยาติดต่อกันสี่สัปดาห์โดยมีตารางเคร่งครัด และมีผลข้างเคียงเช่น ท้องเสีย ความรู้สึกไม่สบาย คลื่นไส้ และ อ่อนเพลีย
ยาต้านไวรัส
     ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีทำได้โดยการให้ยาต้านไวรัสด้วยวิธี Highly Active Antiretroviral Therapy หรือ HAART ซึ่งวิธีการรักษาแบบ HAART ที่ใช้ยา Protease Inhibitor ได้ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๖ และได้ผลดีมากต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี สูตรยาต้านไวรัสแบบ HAART ที่ดีที่สุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นการผสมยาต้านไวรัสอย่างน้อยสามชนิดในกลุ่มยาต้านไวรัสอย่างน้อยสองกลุ่ม สูตรที่ใช้ทั่วไปประกอบด้วยยาในกลุ่ม Nucleoside Analogue Reverse Transcriptase Inhibitor (NRTR หรือ NARTI) สองตัว ร่วมกับยาในกลุ่ม Protease Inhibitor หรือ Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitor (NNRTI) อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการดำเนินโรคของการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่าในผู้ใหญ่ และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการหลายอย่างก็ไม่สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงของการดำเนินโรคได้ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก การรักษาที่แนะนำสำหรับเด็กจึงเป็นสูตรยาที่แรงกว่าในผู้ใหญ่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีการใช้สูตรยา HAART นั้น แพทย์จะเป็นผู้สั่งตรวจระดับ Viral load ความรวดเร็วในการลดจำนวนลงของเซลล์ CD๔ และความพร้อมของผู้ป่วยในการเลือกรับการรักษา ก่อนที่จะเริ่มการรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น